สบน.เอาอยู่หนี้สาธารณะ50% ลุยเพิ่มคุ้มครองภัยพิบัติทิพย์โอดอุทกภัยฉุด
สบน.มั่นใจรัฐบาลก่อหนี้ใหม่ 8 แสนล้านบาท ไม่กระทุ้งหนี้สาธารณะพุ่งแตะ 50% ต่อจีดีพีแน่ ด้านกองทุนประกันภัยพิบัติพร้อมศึกษาเพิ่มคุ้มครองความเสี่ยง 50% ทิพยฯ โชว์เบี้ยรับเฉียด 1.5 หมื่นล้าน นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2555 ระดับหนี้สาธารณะคงค้างจะอยู่ที่ 4.3 ล้านล้านบาท หรือ 40-41% ต่อจีดีพี ซึ่งในส่วนนี้รัฐบาลยังมีช่องว่างที่จะสามารถก่อหนี้ได้อีกตามกรอบวินัยทางการคลัง คือไม่เกิน 60% ต่อจีดีพี หรือประมาณ 2 ล้านล้านบาท แม้ว่าในปีนี้รัฐบาลมีแผนจะก่อหนี้ใหม่ทั้งสิ้น 8 แสนล้านบาท แต่ก็ไม่น่าส่งผลกระทบต่อระดับหนี้สาธารณะของประเทศแต่อย่างใด
ทั้งนี้ เพราะแต่ละโครงการโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำ จะต้องใช้เวลาในการพิจารณาขั้นตอนและรายละเอียดนาน ทำให้โอกาสในการกู้เงินเต็มวงเงินตามแผนการกู้เงินทั้งหมดเป็นไปได้ยาก ขณะที่ปี 2556 รัฐบาลวางแผนตั้งงบประมาณขาดดุลอยู่ที่ 3 แสนล้านบาท ทำให้มีช่องว่างในการก่อหนี้ใหม่เพิ่มขึ้นถึง 1.1 ล้านล้านบาท ซึ่งหากรัฐบาลกู้เงินเต็มจำนวนดังกล่าว จึงจะมีโอกาสที่ตัวเลขหนี้สาธารณะทะยานแตะ 50% ต่อจีดีพีได้ แต่ก็ยังเชื่อว่าจะยังอยู่ในวิสัยที่สามารถบริหารจัดการได้
นอกจากนี้ จากการออก พ.ร.ก. โอนหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน วงเงิน 1.14 ล้านล้านบาท กลับไปให้กองทุนฟื้นฟูฯ ดูแลนั้น ส่งผลให้ภาระหนี้ต่องบประมาณในปี 2556 ลดลงเหลือ 7-8% จากปัจจุบันที่ 9.33% และในอีก 2-3 ปีข้างหน้า คาดว่าภาระหนี้ต่องบประมาณ และระดับหนี้สาธารณะจะไม่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญแน่นอน
นายประเวช องอาจสิทธิกุล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติ ที่มีนายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เป็นประธานในวันที่ 21 มี.ค.นี้ คงยังไม่สามารถเสนอเรื่องผลการศึกษาการขยายการคุ้มครองความเสี่ยง (ซับลิมิต) เป็น 50% จากเดิม 30% ได้ เนื่องจากขณะนี้ต้องเร่งการดำเนินการในการเปิดขายประกันภัยพิบัติให้ได้ตามกำหนดเปิดตัวในวันที่ 28 มี.ค.นี้ก่อน
"หลังจากเปิดตัวกรมธรรม์ประกันภัยพิบัติแล้ว คปภ.จะเริ่มดำเนินการเรื่องขยายการคุ้มครองความเสี่ยงเป็น 50% คาดว่าจะแล้วเสร็จในเร็วๆ นี้ เบื้องต้นประเมินว่าการขยายการคุ้มครองความเสี่ยงออกไป เบี้ยประกันภัยจะแพงกว่าการคุ้มครองความเสี่ยงในระดับ 30% ที่กำหนดว่ากลุ่มเอสเอ็มอีที่มีทุนประกันไม่เกิน 50 ล้านบาท เสียเบี้ยประกัน 1% ต่อปี ส่วนรายใหญ่เสีย 1.25% ต่อปี ส่วนจะเบี้ยประกันแพงขึ้นเป็นเท่าใดนั้นคงต้องศึกษาอีกครั้ง แต่น่าจะถูกกว่าตลาดที่ขณะนี้เฉลี่ยในระดับ 3%"
ด้านนายสมพร สืบถวิลกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทิพยประกันภัย เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานประจำปี สิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2554 ว่า บริษัทยังคงมีผลการดำเนินงานขยายตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยบริษัทมีเบี้ยประกันภัยรับรวมทั้งสิ้น 14,831.96 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 3,935 ล้านบาท โดยเบี้ยประกันภัยรถยนต์ และเบี้ยประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล เพิ่มขึ้นสูงสุดตามลำดับ 74.85% และ 60.97%
"ในปี 2554 ที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้รับผลกระทบจากมหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นและก่อให้เกิดความเสียหายแก่ลูกค้าผู้เอาประกัน ทำให้ปีที่ผ่านมาบริษัทมีกำไรสุทธิก่อนหักภาษีเงินได้ 324.88 ล้านบาท และหักค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้ 289.07 ล้านบาท คงเหลือกำไรสุทธิ 35.82 ล้านบาท".
ขอขอบคุณที่มา : http://www.ryt9.com/s/tpd/1369179